อำเภอกุดชุม

เขตการปกครอง

อำเภอกุดชุม ประกอบด้วย ๙ ตำบล ๑๒๘ หมู่บ้าน

๑. กุดชุม (Kut Chum)        หมู่บ้าน
๒. โนนเปือย (Non Pueai)        หมู่บ้าน
๓. กำแมด (Kammaet)        หมู่บ้าน
๔. นาโส่ (Na So)        หมู่บ้าน
๕. ห้วยแก้ง (Huai Kaeng)        หมู่บ้าน
๖. หนองหมี (Nong Mi)        หมู่บ้าน
๗. โพนงาม (Phon Ngam)        หมู่บ้าน
๘. คำน้ำสร้าง (Kham Nam Sang)        หมู่บ้าน
๙. หนองแหน (Nong Nae)        หมู่บ้าน

จังหวัดยโสธร แบ่งเขตการปกครอง ออกเป็น ๙ อำเภอ ได้แก่

อำเภอเมืองยโสธร อำเภอเลิงนกทา อำเภอไทยเจริญ อำเภอกุดชุม อำเภอทรายมูล
อำเภอป่าติ้ว อำเภอคำเขื่อนแก้ว อำเภอมหาชนะชัย อำเภอค้อวัง
ที่ตั้งและอาณาเขต

อำเภอกุดชุม อยู่ทางทิศเหนือของจังหวัดยโสธร อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๓๘ กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ ๕๔๔ ตารางกิโลเมตร หรือ ๓๔๐,๐๐๐ ไร่ โดยมีอาณาเขตติดต่อกับเขตปกครองอื่นๆ ดังนี้

ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอหนองพอก (จังหวัดร้อยเอ็ด) และอำเภอเลิงนกทา (จังหวัดยโสธร)
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอไทยเจริญ (จังหวัดยโสธร)
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอป่าติ้ว อำเภอทรายมูล และอำเภอมืองยโสธร (จังหวัดยโสธร)
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอทรายมูล (จังหวัดยโสธร) และอำเภอเสลภูมิ (จังหวัดร้อยเอ็ด)

 

ประวัติความเป็นมา

ปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ร.ต.ท.พวง ศรีบุญลือ นายอำเภอยโสธรในสมัยนั้นดำริเห็นว่าท้องที่ตำบลโนนเปือย ตำบลโพนงาม ตำบลกำแมด และตำบลไผ่ อยู่ห่างไกลจากอำเภอยโสธร หนทางทุรกันดาร ลำบากแก่ราษฎรในการไปมาติดต่อราชการ ณ ที่ว่าการอำเภอยโสธร ประกอบกับเจตนารมณ์อันแรงกล้าของราษฎรทั้ง ๔ ตำบลดังกล่าวที่มีความต้องการให้ทางราชการยกฐานะ ๔ ตำบลเป็นกิ่งอำเภอ โดยราษฎรยินดีจะสร้างอาคารสถานที่ราชการให้ โดยไม่ต้องรบกวนงบประมาณของทางราชการแต่อย่างใด เพื่อสนองเจตนาอันแน่วแน่ของประชาชนและเพื่อความเจริญของบ้านเมืองในอนาคต ร.ต.ท.พวง ศรีบุญลือ จึงประชุมกำนันทั้ง ๔ ตำบล ซึ่งได้แก่ นายสงค์ วงษ์ไกร กำนันตำบลโนนเปือย นายสาย จันทพาล กำนันตำบลโพนงาม นายวรรณทอง ยาวะโนภาส กำนันตำบลกำแมด และนายหา ยาวะโนภาส กำนันตำบลไผ่ มีมติเป็นเอกฉันท์คัดเลือกชัยภูมิซึ่งได้แก่พื้นที่บางส่วนของ “ดงเย็น” เป็นที่ดอนและตั้งอยู่ใกล้ชิดกับหมู่บ้าน กุดชุม ตำบลโนนเปือย เป็นที่ตั้งกิ่งอำเภอกุดชุม

ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ก็ได้ลงมือสร้างกันอย่างจริงจัง โดยกำนันทั้ง ๔ ตำบลดังกล่าว เป็นผู้นำที่เข้มแข็งรับอาสาชักชวนราษฎรสละตอไม้และแรงงานในการปราบพื้นที่ตั้งกิ่งอำเภอฯ ในอาณาบริเวณประมาณ ๗๐ ไร่ และได้ตั้งปลัดอำเภอและหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอยโสธรผลัดเปลี่ยนกันออกมาดำเนินการกำกับดูแลการก่อสร้างและข้าราชการผู้เป็นกำลังอันสำคัญยิ่งที่มีส่วนผลักดันให้งานนี้เป็นผลสำเร็จก็คือ นายพิสุทธิ์ ฟังเสนาะ ปลัดอำเภอโท อำเภอยโสธร ซึ่งนอกจากจะมากำกับดูแลการก่อสร้างเป็นประจำแล้วยังได้รับภารกิจพิเศษให้เป็นหัวหน้าคณะร่วมกับนายอ่วม นามสละ ที่ดินอำเภอยโสธร นายบุญชู ดีหนองยาง ครูใหญ่ ออกดำเนินการเรี่ยไรข้าวเปลือกจากราษฎรทั้ง ๔ ตำบล เพื่อรวบรวมขายเอาเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับค่าช่างฝีมือ และวัสดุสำคัญในการก่อสร้าง ผลปรากฏว่าได้เงินจากการขายข้าวเปลือกเพียงพอแก่การดำเนินการตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ในที่สุดผลแห่งการร่วมมือร่วมใจของประชาชนและข้าราชการก็เสร็จสิ้นลงในราวเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๔ มีสถานที่ราชการและบ้านพักซึ่งสร้างด้วยน้ำพักน้ำแรงของราษฎรสำเร็จเรียบร้อย

อนึ่ง ผู้มีส่วนสำคัญยิ่งอีกท่านหนึ่งในการสนับสนุนเป็นกำลังใจให้การก่อสร้างกิ่งอำเภอกุดชุม เป็นผลสำเร็จคือ พระครูปลัดปาเรสโก (ผั่น ปาเรสโก) ลูกศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เจ้าอาวาสวัดบ้านหนองหิน ตำบลหนองหิน อำเภอยโสธร และท่านเป็นผู้ริเริ่มก่อสร้างวัดประชาชุมพลขึ้นมาพร้อมๆ กับการสร้างกิ่งอำเภอฯ และในระยะเวลาต่อมาหลังจากสร้างกิ่งอำเภอกุดชุมแล้วเสร็จไม่นาน ท่านก็เป็นผู้ดำเนินการตั้งหลักเมืองให้เป็นศักดิ์ศรีแก่กิ่งอำเภอด้วย

เมื่อสร้างกิ่งอำเภอกุดชุม เสร็จแล้ว ร.ต.ท.พวง ศรีบุญลือ นายอำเภอยโสธร ก็รายงานผลไปยังกระทรวงมหาดไทย ขอแยกตำบลโนนเปือย ตำบลโพนงาม ตำบลกำแมด และตำบลไผ่ จากอำเภอยโสธร ตั้งขึ้นเป็นกิ่งอำเภอกุดชุมตามนามหมู่บ้านกุดชุม ซึ่งสถานที่ที่ตั้งกิ่งอำเภอฯ อยู่ใกล้ที่สุด ในที่สุดได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะขึ้นเป็นกิ่งอำเภอกุดชุม เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๐๔ โดยทางราชการได้แต่งตั้งนายพิสุทธิ์ ฟังเสนาะ ปลัดอำเภอโทอำเภอยโสธรมาดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอโท ผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอกุดชุมคนแรก และเริ่มเปิดสถานที่ราชการติดต่อกับประชาชน เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๔ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี (นายกำจัด ผาติสุวัณ) เป็นประธานกระทำพิธีเปิดกิ่งอำเภอกุดชุม ต่อมาเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ ได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะจากกิ่งอำเภอกุดชุมขึ้นเป็นอำเภอกุดชุม และต่อคณะปฏิวัติได้ประกาศยกฐานะอำเภอยโสธรขึ้นเป็นจังหวัดยโสธร อำเภอกุดชุมจึงเป็นอำเภอหนึ่งขึ้นอยู่กับจังหวัดยโสธรตั้งแต่นั้นมา
ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๒๑ กระทรวงมหาดไทยได้โอนตำบลไผ่ อำเภอกุดชุม ไปขึ้นกับกิ่งอำเภอทรายมูล (ปัจจุบันเป็นตำบลไผ่ อำเภอทรายมูล) อำเภอเมืองยโสธร ในขณะนั้น เนื่องจากท้องที่ตำบลไผ่ อยู่ใกล้กับอำเภอทรายมูลมากกว่าอำเภอกุดชุม

 

คำขวัญ

พระใหญ่คู่บ้าน ศาลเจ้าพ่อคู่เมือง
ลือเลื่องบุญบั้งไฟ สมุนไพรมากมี
ข้าวดีปลอดสารพิษ งานนิมิตภูทางเกวียน

 

แหล่งข้อมูล

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. อำเภอกุดชุม. สืบค้นเมื่อ วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๖, จาก:  https://kku.world/a2pwf

 

สถานที่ท่องเที่ยว

ภูทางเกวียน อำเภอกุดชุม
ภูหินปูน อำเภอกุดชุม
ภูถ้ำพระ อำเภอกุดชุม
ภูหมากพริก อำเภอกุดชุม
ภูแผงม้า อำเภอกุดชุม
น้ำตกนางนอน อำเภอกุดชุม
น้ำตกตาดหลาด อำเภอกุดชุม
วัดวินิจธรรมาราม อำเภอกุดชุม

สถิติผู้เข้าชมเว็บไซต์
  • Today's visitors: 0
  • Today's page views: : 0
  • Total visitors : 3,750
  • Total page views: 4,696